เมื่อลูกสุดรักมีปัญหาการเรียน….คุณพ่อคุณแม่ต้องแก้อย่างไร

0
78
สุขภาพเด็ก
Portrait Kid boy holding colour pencil sitting alone and looking out with bored face,Preschool child laying head down on table with sad face,Five years old kid bored with school homework,spoiled child

ปัญหาเรื่องการเรียนของลูกดูเหมือนจะเป็นปัญหาหนักใจของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกอ่านเขียนช้า เรียนไม่ทันเพื่อน หลายคนคิดไม่ตกว่าจะแก้ไขอย่างไรดี พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ที่ปรึกษาศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช และเจ้าของเพจ หมอปุ๊ก Doctor For Kids จึงมีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก โดยยกเคสของคุณแม่ท่านหนึ่งที่ลูกชายมีปัญหาการเรียน นำมาบอกเล่าแบ่งปันให้เห็นเป็นตัวอย่าง

หมอปุ๊กเล่ามีคุณแม่ท่านหนึ่งถามว่าลูกชายเรียนอยู่ชั้น ป.2 กาลังจะขึ้นชั้น ป.3 เป็นเด็กฉลาดเฉลียว ร่าเริงแจ่มใส เรียนรู้อะไรเร็ว ช่างพูดช่างคุย ช่างซักช่างถาม ช่วยเหลือตัวเองดี ดูแล้วก็เหมือนกับเด็กวัยประถมทั่วๆ ไป แต่มีปัญหาของลูกอยู่อย่างหนึ่งที่คุณแม่ไม่เข้าใจ ก็คือจะขึ้นชั้น ป.3 แล้ว ทำไมลูกถึงยังอ่านเขียนหนังสือไม่ได้เลย พยัญชนะไทย 44 ตัวก็ยังจำได้ไม่แม่น ไม่นับตัวสะกด ผันวรรณยุกต์ต่าง ๆ จำสับสนปนเปกันไปหมด

คุณแม่เคี่ยวเข็ญ จับมาสอนให้ท่องจำแค่ไหน ไม่นานก็ลืม ต้องมาสอนจำพยัญชนะกันใหม่ตลอด พอเอามารวมตัวสะกดให้เป็นคำ ใส่วรรณยุกต์ ลูกสับสนมาก อ่านเขียนผิดซะมากกว่าถูก จะว่าลูกไม่ฉลาด สติปัญญาไม่ดี ก็ดูจะไม่ใช่ เพราะเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันจะจำได้ดี ดูจะฉลาดเอาตัวรอดเก่ง ตอนนี้มีปัญหาคือ เวลาสอนการบ้านลูกทีไร คุณแม่โมโหทุกที ดุว่าไปบ่อยๆ “แค่นี้ทำไมถึงทำไม่ได้” “มันยากเย็นอะไรหนักหนา” ลูกกลัวคุณแม่ ไม่อยากอ่านเขียน คอยจะเลี่ยง ทำใหัความสัมพันธ์แม่ลูกไม่ดี

ที่โรงเรียน คุณครูแจ้งให้คุณแม่ทราบว่า ลูกเรียนวิชาอ่านเขียนได้ช้า เรียนวิชาการไม่ทันเพื่อนในห้อง แต่พวกวิชาวาดรูป พละศึกษา วิชาที่ต้องลงมือทำสิ่งต่างๆ เด็กทำได้ดีเท่าหรือจะดีกว่าเพื่อนร่วมชั้น คุณครูจึงช่วยด้านการเรียนโดยในเวลาว่างครูจะให้มาฝึกเขียนอ่านแยกต่างหากให้เป็นพิเศษ แต่เด็กก็ยังอ่านเขียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร พอจบชั้น ป.2 คุณครูประจำชั้นก็แนะนำให้คุณแม่พาลูกไปหาคุณหมอเพื่อดูว่าลูกมีปัญหาการเรียนรู้ หรือไอคิวบกพร่องอะไรหรือเปล่า พอรู้สาเหตุแล้ว ครูจะได้ช่วยเหลือให้ถูกจุด

เมื่อฟังคุณแม่เล่ามาแบบนี้ ในเบื้องต้น หมอปุ๊กจึงคิดว่าปัญหาหลักของลูกชายก็คือเรื่องปัญหาการเรียน คือเรียนรู้ทางวิชาการ ด้านการอ่าน การเขียนได้ช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกันทั้งๆ ที่ครูและแม่ก็ใส่ใจสอนให้ และถือว่าโชคดีที่ขณะนี้ เด็กไม่มีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาจิตใจด้านอื่นๆ

หมอปุ๊กได้กล่าวถึงปัญหาการเรียนของเด็กว่ามีสาเหตุหลัก 3 ด้าน คือ

1.จากตัวเด็กเอง เช่น โรคซน สมาธิสั้น โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disability) หรือแอลดี สติปัญญาบกพร่อง ปัญหาทางจิตใจอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า

2.จากครอบครัว เช่น การเลี้ยงดูไม่เอื้อต่อการเรียนของเด็ก รวมไปถึงขาดปัจจัยในการสนับสนุนการเรียน บรรยากาศครอบครัวเคร่งเครียด มีปัญหาความสัมพันธ์ในบ้าน

3.จากโรงเรียน สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ตามวัย เช่น ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน คุณสมบัติ ความสามารถ และทักษะในการสอนของคุณครู ความสัมพันธ์กับคุณครูและเพื่อนที่โรงเรียน

สำหรับสาเหตุของปัญหาการเรียนที่หมอปุ๊กนึกถึงมากที่สุดสำหรับเคสนี้ ก็คือ “โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ ” หรือ “แอลดี” ซึ่งคำกว่าแอลดีนี้เป็นคำเรียกรวมของความบกพร่องของทักษะ 3 ด้านในการเรียน นั่นคือ 1. ทักษะการอ่าน 2. ทักษะการเขียนและการสะกดคำ 3. ทักษะการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์

หมอปุ๊กได้แนะนำให้คุณแม่พาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กหรือกุมารแพทย์ เพื่อทำการประเมิน และวินิจฉัยสาเหตุของปัญหาการเรียนของลูก ซึ่งแพทย์จะมีขั้นตอนการดูแลและช่วยเหลือเด็ก โดยซักประวัติเพิ่มเติมจากคุณพ่อคุณแม่ คนในครอบครัวที่เกี่ยวขัองกับเด็กและตัวเด็ก ตรวจร่างกาย ตรวจประเมินสภาพจิตใจของเด็ก และขอข้อมูลปัญหาการเรียนของเด็กจากคุณครู

ตามมาตรฐานการวินิจฉัยโรคแอลดีจะต้องตรวจประเมินระดับสติปัญญาร่วมกับตรวจแบบทดสอบประเมินความถูกต้องในการอ่านและสะกดคำ (Wide- Range -Achievement test) ฉบับภาษาไทย ซึ่งทำโดยนักจิตวิทยาคลินิก นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการช่วยเหลือเด็กโรคแอลดี ก็คือ เด็กแอลดีอาจจะมีภาวะอื่นๆเกิดร่วมด้วย เช่น โรคซน สมาธิสั้น โรควิตกกังวล การขาดแรงจูงใจในการเรียน หรือการมองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง ฯลฯ ซึ่งภาวะที่พบร่วมเหล่านี้ควรได้รับการช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาให้เด็กไปพร้อมๆ กับการช่วยเหลือทางด้านการเรียน ผลการรักษาจึงจะครอบคลุมและได้ผลดีที่สุด

หมอปุ๊กกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเด็กแล้ว การเรียนเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ต่อการวางรากฐานชีวิตในอนาคตของเด็กคนหนึ่งเลยทีเดียว ไม่จำเป็นที่เด็กจะต้องแข่งขันกันเรียนอย่างเอาเป็นเอาตายให้ได้ที่หนึ่งในระดับโรงเรียนหรือระดับประเทศ เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาการขนาดนั้น แต่หากเด็กคนใดจะเรียนได้ดีระดับนั้นโดยมีความสุขในการเรียน นั่นก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี น่าชื่นใจของพ่อแม่ แต่เด็กทุกคนต้องสามารถเรียนรู้ มีทักษะพื้นฐานในการอ่านเขียน การค้นคว้า การคิดวิเคราะห์เหตุผล เพื่อจะได้ต่อยอดหาความรู้ในสายงานต่างๆ ตามความถนัดความชอบต่อไป เมื่อพบว่าเด็กมีปัญหาการเรียนตั้งแต่วัยเด็กเล็ก วัยประถม พ่อแม่และครูก็ไม่ควรเพิกเฉยหรือปล่อยปละละเลย คิดว่าเด็กยังเล็ก ไม่เป็นไร เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน โตขึ้น ปัญหาการเรียนของเด็กจะยิ่งแก้ไขยากขึ้นๆ ดังนั้น หากพ่อแม่และครูพบปัญหาการเรียนของเด็กเล็กและไม่สามารถแก้ไขเองได้ ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เขี่ยวชาญ ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาและการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและครบวงจร ทั้งที่ตัวเด็ก ครอบครัว และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น