แผลเท้าเบาหวาน อย่ามองข้าม อาจมีความเสี่ยงติดเชื้อ
แผลเท้าโรคเบาหวาน ยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม และอาจคิดว่าทำแผลเองได้ที่บ้าน แต่รู้หรือไม่ ว่าแผลเท้าโรคเบาหวาน อาจมีความเสี่ยงติดเชื้อ และเกิดการลุกลามจนนำไปสู่การสูญเสียขาได้ในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
นายแพทย์ศุภชัย จันทร์วิทัน ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะมีปัญหาน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดจะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ฉะนั้นยิ่งน้ำตาลในเลือดสูง ระบบภูมิคุ้มกันก็ยิ่งลดลง ส่งผลให้มีการติดเชื้อง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ โดยหลักการของโรคเบาหวาน มักจะมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เส้นประสาทเสื่อม จนเกิดอาการชาที่มือและเท้า ดังนั้น เมื่อมีอาการชาที่เท้า ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเมื่อเกิดแผล เนื่องจากอยู่ในจุดที่มองไม่เห็น ทำให้ไม่ได้มีการดูแลตั้งแต่ต้น จนเกิดการติดเชื้อและลุกลามได้ง่ายกว่าบริเวณอื่นของร่างกาย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยังมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดเสื่อมได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น ในผู้ป่วยที่มีแผลเท้าโรคเบาหวาน สิ่งแรกที่ต้องดูคือผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดร่วมด้วยหรือไม่ หากไม่มีปัญหาหลอดเลือด การรักษาแผลจะทำได้ง่ายกว่า แต่หากมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดร่วมด้วย การรักษาแผลจะมีความสลับซับซ้อน เนื่องจากกระบวนการการหายของแผลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีเลือดไปเลี้ยงเพียงพอ ไม่มีการติดเชื้อ และมีสภาพแวดล้อมของแผลที่เหมาะสม
ในกรณีที่มี แผลเท้าเบาหวาน ร่วมกับมีปัญหาหลอดเลือด
ในภาวะนี้ควรได้รับการรักษาปัญหาหลอดเลือด เพื่อเปิดให้เลือดได้ไหลมาเลี้ยงแผลให้ได้มากที่สุด โดยวิธีการเปิดหลอดเลือดที่อุดตัน (Revascularization) ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษา มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการทำให้เลือดกลับมาเลี้ยงแผลได้ดีขึ้น โดยวิธีการซ่อมหลอดเลือดหลัก ๆ ได้แก่ การทำบายพาสหลอดเลือด, การใส่สายสวนหลอดเลือด เพื่อทำบอลลูนขยายจุดที่ตีบหรือตัน นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาเพิ่มเติม เช่น การอบออกซิเจน หรือการทำไฮเปอร์แบริค (Hyperbaric oxygen therapy) การให้สเปรย์ออกซิเจน และการให้ยาในเรื่องของสเต็มเซลล์ เป็นต้น
“ โดยปกติแผลทั่ว ๆ ไป มักจะหายเองได้ภายใน 7 -14 วัน แต่หากเกินกว่านั้นหรือรู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นโรคเบาหวาน ไม่ควรทำแผลเอง ควรรีบมารักษากับแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากแพทย์จะสามารถทำแผลโดยปราศจากเชื้อ ควบคุมการติดเชื้อ และประเมินความรุนแรงการติดเชื้อ ขนาดแผล และปัญหาหลอดเลือดของผู้ป่วย ทำให้ลดโอกาสการตัดเท้าที่เกิดจากการติดเชื้อรุนแรงได้ ” นพ.ศุภชัยกล่าว จุดประสงค์ของการรักษาแผลเท้าโรคเบาหวาน คือการเก็บรักษาเท้าเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นหากเข้ารับการรักษาตั้งแต่แรก และต่อเนื่อง จะทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อและลุกลามไปจนถึงกระดูกที่จะนำไปสู่การตัดเท้าได้
BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม
ขอบคุณรูปภาพจาก โรงพยาบาลธนบุรี 2, Bupa Thailand