ปวดส้นเท้า อาการยอดฮิตของนักวิ่ง เป็นแล้วมีโอกาสหายขาดหรือไม่

0
94
ปวดส้นเท้า

ปวดส้นเท้า อาการยอดฮิตของนักวิ่ง เป็นแล้วมีโอกาสหายขาดหรือไม่

อาการปวดที่ส้นเท้าเป็นอาการที่พบได้ทั้งในนักวิ่งหน้าใหม่และหน้าเก่า จากการวิ่งอย่างหักโหมและไม่ถูกวิธี ซึ่งคุณจะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า หรือแค่ลุกเดิน 2 – 3 ก้าวก็เจ็บแล้ว โดยเฉพาะก้าวแรกหลังตื่นนอนตอนเช้า ใครจะรู้ว่าอาการดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังจะเป็น “โรครองช้ำ” อยู่ก็ได้ค่ะ แน่นอนว่าอาการเจ็บส้นเท้า คงไม่มีนักวิ่งคนไหนที่อยากเป็น เพราะว่าหากเมื่อเป็นแล้วจะต้องใช้ระยะเวลารักษานานพอตัว ถึงจะหายเจ็บ หลายคนคงสงสัยว่าแล้วอาการปวดที่ส้นเท้าแบบนี้ จะมีโอกาสหายขาดหรือเปล่านะ เราจะพาไปหาคำตอบกันค่ะ
รองช้ำ ถือว่าเป็นอาการยอดฮิตของนักวิ่งซึ่งพบได้บ่อยมาก โดยอาการเจ็บรองช้ำนั้นเป็นการอักเสบของแผ่นเส้นเอ็นฝ่าเท้าที่ยึดระหว่างกระดูกส้นเท้าไปยังปลายเท้า ที่ทำให้อุ้งเท้าของเรานูนขึ้นจากพื้นซึ่งมีหน้าที่รองรับน้ำหนักตัวและรองรับแรงกระแทกในขณะยืน เดิน และวิ่งนั่นเอง แต่ก็จะยังไม่แสดงอาการปวดชัดเจน แต่ถ้าเรายังฝืนใช้งานซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดการฉีกขาดได้มากขึ้นจนเกิดอาการอักเสบในที่สุด แต่สำหรับนักวิ่งแล้ว จะปวดที่ส้นเท้าจากอาการรองช้ำมากกว่าคนปกติ เช่น การฝึกวิ่งแบบหักโหม วิ่งในระยะทางที่ไกลเกินไป การสวมรองเท้าที่พื้นบางเกินไป

รูปเท้ามีส่วนทำให้เกิดปวดส้นเท้าได้จริงหรือไม่

อาการปวดที่ส้นเท้าหรือรองช้ำนั้นพบได้มากในนักวิ่งที่มีรูปเท้าผิดปกติ เช่น เท้าแบน เท้าบิดเข้าข้างใน หรือในนักวิ่งที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณน่อง และเอ็นร้อยหวาย เพราะจะมีแรงดึงที่ทำให้เอ็นฝ่าเท้าตึงมากกว่ารูปเท้าทั่วไป

เป็นแล้วมีโอกาสหายขาดไหม

แม้ว่าอาการปวดที่ส้นเท้าหรือรองช้ำนั้นจะไม่ได้อันตรายมากนักแต่ก็สร้างความทรมานและรำคาญใจให้กับนักวิ่งไม่น้อยเลยค่ะ โดยทั่วไป อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นในระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หากอาการไม่รุนแรงสามารถกลับบ้านไปเพื่อทำกายภาพด้วยตนเองได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากรุนแรง แพทย์จำเป็นต้องใช้ยา รวมถึงการผ่าตัดเพื่อเลาะพังผืดที่มีปัญหาหรือเอาหินปูนที่เกาะบริเวณส้นเท้าออก
วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้หายขาดจากอาการปวดที่ส้นเท้าและเจ็บจากรองช้ำ คือ การหยุดพักจากกวิ่งจนกว่าจะหายเจ็บ นี่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้นักวิ่งหลายคนเลือกที่จะฝืนตัวเอง วิ่งต่อ และนั่นทำให้กลายเป็นต้องพักการใช้เท้าในระยะยาวได้เลยค่ะ ทางที่ดี ถ้าอยากที่จะวิ่งจริง ๆ ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อฝึกออกกำลังกายร่างกายส่วนล่างในน้ำ เพื่อลดการบาดเจ็บที่จะเกิดจากการวิ่งได้ รวมถึงการดูแลตัวเองดังนี้

1. เลือกใช้ความเย็นหรือความร้อนให้เหมาะสมกับการบรรเทาอาการปวด

หากอาการอักเสบแบบฉับพลัน ในช่วง 1 – 2 วันแรก ควรประคบเย็นบริเวณส้นเท้าหรือใต้ฝ่าเท้า
15 – 20 นาที หลังจากนั้น ให้แช่น้ำอุ่น 20 – 30 นาที จะช่วยให้สบายขึ้นและอาการปวดน้อยลง

2. ควรใส่รองเท้าให้เหมาะกับรูปเท้าหรือใช้อุปกรณ์พยุงอุ้งเท้าให้เหมาะสม

อย่างเช่น คนที่มีรูปเท้าที่แบนและบิดเข้าด้านใน ใส่รองเท้าวิ่งแบบ Motion control shoe ที่มีอุปกรณ์ เสริมอุ้งเท้าด้านใน (arch support) หรืออุปกรณ์รองรับส้นเท้า (heel cushion) เพื่อปรับอุ้งเท้าให้ปกติ นอกจากนี้ นอกจากนี้ควรเลือกรองเท้าวิ่งให้มีขนาดพอดีกับเท้าและมีพื้นที่หนามากพอที่จะรับแรงกระแทกได้ดี

3. ยืดเอ็นฝ่าเท้าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

เมื่อเราทำการยืดโดยตรงที่บริเวณเอ็นฝ่าเท้า ก็จะช่วยกระตุ้นกระบวนการทำงานของเซลล์  fibroblast ให้ไปสร้างคอลลาเจนเพื่อซ่อมแซมตรงบริเวณเอ็นฝ่าเท้าที่มีการบาดเจ็บได้

การดูแลรักษาเท้าเป็นสิ่งสำคัญที่นักวิ่งทุกคนควรเอาใจใส่นะคะ เมื่อมีอาการบาดเจ็บ ควรหยุดพักเพื่อให้หายดี แล้วจึงกลับไปวิ่ง การฝืนไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับทุกคนเสมอไป

BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม

ขอบคุณรูปภาพจาก scholl thailand , HD

BKK Healthcare
BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม