ฟันปลอมหลวม อันตราย

0
86
ฟันปลอมหลวม

ฟันปลอมหลวม อันตราย

ทันตแพทยสภาขอแจ้งเตือนประชาชน สำหรับท่านที่ใส่ฟันปลอมถอดได้ หรือใส่ฟันปลอมขนาดเล็ก เมื่อใส่ฟันปลอมมาเป็นเวลานาน อาจมีฟันปลอมที่หลวม ไม่แนบสนิทกับซอกฟัน หรือตะขอเกี่ยวฟันปลอมกับตัวฟันชำรุด แต่เนื่องจากมีความคุ้นชินกับฟันปลอมชุดดังกล่าวจึงไม่ได้ระมัดระวังในขณะรับประทานอาหาร อาจทำให้เผลอกลืนชิ้นฟันปลอมที่มีขนาดเล็กลงไปได้

โดยฟันปลอมถอดได้บางชนิดจะมีตะขอเกี่ยวกับตัวฟัน หรือมีรูปร่างโค้งเว้าเป็นมุมที่ยื่นเข้าตามซอกฟัน ซึ่งการออกแบบดังกล่าวจะช่วยให้ฟันปลอมมีการยึดติดในช่องปากได้ดี เมื่อเผลอกลืนเข้าในทางเดินอาหาร อาจติดหลอดอาหารหรือตกค้างในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ได้ ทำให้เกิดบาดแผลในทางเดินอาหารเกิดขึ้นได้ และเมื่อมีการตรวจด้วยภาพถ่ายเอ็กซเรย์อาจไม่พบ เนื่องจากเป็นฟันปลอมฐานพลาสติกซึ่งไม่มีส่วนประกอบฟันปลอมที่เป็นโลหะ หรือสารทึบแสง

ดังนั้นท่านที่ใส่ฟันปลอมควรหมั่นตรวจเช็ค ความแนบเเน่นของฟันปลอมและพบทันตแพทย์เพื่อการปรับแต่งหรือเปลี่ยนฟันปลอมชิ้นใหม่เมื่อสภาพฟันปลอมไม่เหมาะสมเช่น ฟันปลอมที่หลวม แตกหักหรือมีตะขอหัก เป็นต้น

ฟันปลอมหลวม

กรณีท่านเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะมีสิทธิ์ได้รับค่าฟันปลอมและค่ารักษาพยาบาล ภายในเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอมนั้น แยกเป็น 2 กรณี ดังนี้

1. ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน

– จำนวน 1-5 ซี่ ได้เท่าที่จ่ายในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
– มากกว่า 5 ซี่ ได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท

2. ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก

– ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
– ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
กรณีสิทธิรักษาบัตรทอง(30บาท) หากท่านมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปไม่ต้องเสียค่าฟันปลอม ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอม

ทั้งนี้ท่านสามารถสอบถามเรื่องฟันปลอมกับสถานพยาบาลทันตกรรมใกล้บ้านของท่าน

BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม

ขอบคุณรูปภาพจาก sanook , แนวหน้า

BKK Healthcare
BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม