วัคซีนโควิด-19 “ความหวัง ทางเลือก และทางรอด ของประชาชนชาวไทย”

0
68
วัคซีน โควิด 19

วัคซีนโควิด-19 “ความหวัง ทางเลือก และทางรอด ของประชาชนชาวไทย”

ลังจากผ่านพ้นปฏิทินปี 2021 มา 5 เดือนเต็ม ในที่สุดประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่ขั้นต่อไปของการ ฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 หรืออีกนัยหนึ่ง คือการเปิดให้ประชากรไทยลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม หมอพร้อม เพื่อเตรียมตัวรับวัคซีนอย่างทั่วถึง

แต่ประเด็นที่ใครหลายคนอยากรู้ก่อนจรดนิ้วลงทะเบียน คงหนีไม่พ้นเรื่องสองยี่ห้อวัคซีน ม้าเต็ง อย่าง แอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca)’ และ ซิโนแวค (Sinovac)’ ที่ถูกถามถึงกันไม่เว้นวัน ว่า ประสิทธิภาพรวมถึง ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น จะคุ้มค่าพอให้เราเลิกแขนเสื้อขึ้นฉีดหรือไม่

แต่ก่อนจะพูดเจาะลึกถึงสองม้าเต็ง เราอยากจะขยายความถึงม้าเบอร์อื่นๆ ให้ชัดเจนขึ้นเสียก่อน เพื่อง่ายต่อการเทียบข้อแตกต่าง และชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าของวัคซีนแต่ละชนิดอย่างชัดเจนที่สุด

วัคซีนโควิด-19 มีกี่ชนิด

นายแพทย์สมชัย ลีลาศิริวงศ์ ที่ปรึกษาผู้จัดการความเสี่ยง โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลกับเราว่า วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลัก ๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้แก่

mRNA vaccines หรือวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอีโบล่า วัคซีนชนิดนี้จะใช้สารพันธุกรรมของโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ออกมา โดยมี BioNTech/Pfizer และ Moderna เป็นสองยี่ห้อที่ใช้เทคโนโลยีนี้

Viral vector vaccines หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงแล้ว หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก มาตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ แล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งเทคนิคนี้เป็นวิธีที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี 

เนื่องจากเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติ โดยมีวัคซีนจาก Johnson & Johnson, Sputnik V รวมถึง ‘Oxford – AstraZeneca’ ที่ผลิตจากเทคนิคนี้

Protein-based vaccines หรือวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2)  โดยการนำเอาโปรตีนบางส่วนของโควิด-19 เช่น โปรตีนส่วนหนาม มาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ ก่อนฉีดเข้าร่างกาย แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบี ซึ่ง Novavax เป็นหนึ่งยี่ห้อที่ใช้เทคนิคนี้ในการผลิต

Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตขึ้นจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ก่อนฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เทคนิคนี้ผลิตได้ค่อนข้างช้า และต้นทุนสูง เนื่องจากต้องผลิตในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ซึ่งเจ้าที่ใช้เทคนิคนี้คือ Sinopharm และ ‘Sinovac’ 

เมื่อรับรู้ถึงที่มาที่ไปของเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนในแต่ละชนิด ความคาดหวังต่อมาคงหนีไม่พ้นปัจจัยด้านความเสี่ยง หรือ ผลข้างเคียง ที่ดูจะมีหลายอาการจนน่าสับสัน ซึ่งจริงๆ แล้วผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ผู้มีผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักมีอาการร่วมกัน อย่าง จุดปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดฉีดวัคซีน, อาการคลื่นไส้ – มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงรู้สึกอ่อนเพลียและไม่สบายตัว ซึ่งเป็นผลข้างเคียง ชนิดไม่รุนแรง ที่พบแทบในวัคซีนทุกชนิด

ประเด็นที่คนไทยกำลังกังวลคือ ข่าวผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยเฉพาะภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาโดย สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ประกาศว่าวัคซีนชนิดนี้ อาจมีความเชื่อมโยงกันกับภาวะดังกล่าว หลังมีรายงานว่ามีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลกรายงานตรงกันว่า หากเทียบสัดส่วนประชากรที่รับการฉีดแล้ว ภาวะดังกล่าวมีสัดส่วนเกิดขึ้นต่ำมาก เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว หลายฝ่ายจึงให้ข้อสรุปว่า การเดินหน้าฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากโควิด-19 จะมีประโยชน์มากกว่าการระงับใช้วัคซีนไปเลย

ส่วนอีกหนึ่งที่กำลังเข้าสู่ประเทศไทยหลักล้านโดส อย่าง ซิโนแวค แม้ล่าสุดจะถูกเอ่ยถึงอาการข้างเคียงคล้ายอัมพฤกษ์ ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทชั่วคราว แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจนในหัวข้อดังกล่าว

ด้วยรายงานต่างๆ นานา ของทั้ง แอสตร้าเซนเนกา และ ซิโนแวค อาจจะยากเสียหน่อยที่จะยกวัคซีนทั้งสองให้เป็นม้าตัวความหวังของประเทศไทย แต่อย่างน้อยที่สุดแล้วทั้งคู่ต่างก็เป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลกแล้ว มีการอนุมัติใช้แล้วในหลายประเทศ และยังผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย อย่างถูกต้อง

โดย รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ให้ข้อมูลวัคซีนทั้งสองชนิดว่าในประเทศไทย จะใช้ แอสตร้าเซนเนกา ฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป บริเวณต้นแขนรวม 2 โดส ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และหลีกเลี่ยงการฉีดให้กับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก ส่วน ซิโนแวค จะฉีดให้กับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี บริเวณต้นแขนรวม 2 โดสเช่นกัน แต่ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรง จะต้องฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์เท่านั้น

ประเทศไทยเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 ไปแล้ว ซึ่งประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า, ผู้มีโรคประจำตัวหรือโรคกลุ่มเสี่ยง, ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งหลังจากมีการนำเข้าวัคซีนมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มดำเนินการวางแผนงานฉีดวัคซีนให้คนทั่วไป กับโรงพยาบาล 1,500 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลพระรามเก้า ผ่านแพลตฟอร์ม หมอพร้อม

แพลตฟอร์ม หมอพร้อมจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน LINE Official Account ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป อีกทั้งยังเปิดให้ประชาชนได้ศึกษาวิธีใช้งาน รวมถึงรายละเอียดที่ต้องแจ้ง ผ่านทางเว็บไซต์ https://หมอพร้อม.com อีกด้วย

แม้จะสรุปไม่ได้ว่าการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด เป็นทางรอดของคนไทย 100% หรือไม่ แต่เราก็เชื่อว่าการเข้าถึงข้อมูลของวัคซีนโควิด-19 ที่มากพอ จะช่วยสร้างความหวังให้คนไทยได้ ตัดสินใจเลือก ทางเลือกในการก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยตัวเอง