การรักษาคลองรากฟัน คืออะไร

0
70
การรักษาคลองรากฟัน

การรักษาคลองรากฟัน คืออะไร

การรักษาโดยการทำให้ภายในโพรงประสาทฟันสะอาดและปราศจากเชื้อโรค แล้วอุดด้วยวัสดุอุดคลองรากฟัน ทำให้ฟันสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามฟันที่เคยได้รับการรักษารากฟันแล้วมักมีการสูญเสียโครงสร้างของฟันไปมาก ดังนั้นหลังจากรักษาคลองรากฟันแล้วควรพิจารณาทำเดือยและครอบฟัน เพื่อคงความแข็งแรงให้กับฟันที่รักษารากแล้ว

ลักษณะของฟันที่ต้องรักษารากฟัน

1. เมื่อเกิดฟันผุลุกลามเข้าโพรงประสาทฟัน ซึ่งมักมีอาการปวดได้ในหลายลักษณะ เช่น ปวดเวลาดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็น ปวดตลอดเวลา หรือปวดขึ้นมาได้เอง เป็นต้น
2. ฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาจนมีการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณรอบปลายรากฟัน เกิดเป็นหนอง จะมีอาการปวดฟันเวลาเคี้ยว หรือเมื่อฟันกระทบกัน อาจมีอาการบวมหรือตุ่มหนองบริเวณเหงือกหรือเพดาน
3. ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ เช่น ฟันหัก ฟันหลุดออกจากเบ้าฟัน
4. ฟันปกติเพื่อช่วยในการใส่ฟันปลอม

ดังนั้นถ้าทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถเก็บฟันไว้ได้ด้วยการรักษา คลองรากฟันแนะนำว่าควรเก็บ แม้ค่าใช้จ่ายจะมากกว่าการถอนฟันแต่เมื่อเปรียบเทียบกับการทำลายฟัน หรือการทำรากฟันเทียมแล้ว การรักษา คลองรากฟันยังประหยัดกว่า และเป็นวิธีที่จะรักษาฟันให้เก็บไว้ใช้งานได้ตามปกติได้นาน

ขั้นตอนในการรักษา

การรักษาคลองรากฟัน

1. การเปิดทางเข้าสู่คลองรากฟัน และดึงเนื้อเยื่อประสาทฟันออก แล้วทำความสะอาดภายในคลองรากฟันโดยใช้เครื่องมือพิเศษร่วมกับน้ำยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ
2. การอุดคลองรากฟัน
2.1 การติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน
2.2 เปิดรักษาคลองรากฟัน
2.3 กำจัดเนื้อเยื่อติดเชื้อ
2.4 อุดคลองรากฟัน
2.5 ใส่เดือยเพื่อคงความแข้งแรงของรากฟัน
2.6 ใส่ครอบฟัน

การบูรณะฟันหลังการทำการรักษา คลองรากฟัน

บางครั้งฟันหน้า ที่มีการเปลี่ยนสีซึ่งเป็นปัญหาเรื่องความสวยงาม สามารถทำการฟอกสีจากภายในโพรงประสาทฟัน
ก่อนการบูรณะขั้นสุดท้าย ฟันบางซี่มีการสูญเสียเนื้อฟันไม่มากอาจรักษาโดยการอุดฟัน แต่โดยส่วนใหญ่มักมีการสูญเสียโครงสร้างของฟันไปมาก เนื่องจากการผุของฟันและการกรอแต่ง เพื่อเปิดทางเข้าสู่คลองรากฟัน วิธีการที่ดีที่สุดคือการทำเดือยและครอบฟัน จะทำให้ฟันที่รักษาคลองรากฟันนี้ป้องกันการแตกได้
ในบางครั้งถ้าไม่ต้องการรักษา คลองรากฟัน อาจต้องพิจารณาการถอนฟัน และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใส่ฟันปลอมจะทำให้ฟันข้างเคียงล้มเข้าหาช่องว่าง และยังทำให้กระดูกขากรรไกรยุบตัวเร็ว อย่างไรก็ตามการรักษา คลองรากฟันไม่สามารถทำได้ในทุกกรณี เช่น ในฟันที่เสียโครงสร้างฟันไปมากจนไม่สามารถบูรณะได้ อาจจำเป็นต้องถอนไป

โดย : ทันตแพทย์หญิงพัทรนันท์ เรืองเกียรติกุล ทันตแพทย์เฉพาะทางรักษาคลองรากฟัน โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่

BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม

ขอบคุณรูปภาพจาก Dentalis Thailand, โรงพยาบาลเวชธานี

BKK Healthcare
BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม