ทันตกรรมรักษารากฟัน

0
65

ทันตกรรมรักษารากฟัน

การรักษารากฟัน คือ การกำจัดเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันที่ติดเชื้อ หรือเนื้อเยื่อในตัวฟันที่ตายแล้วออก ทำความสะอาดโดยการใช้เครื่องมือขยายให้คลองรากฟันกว้างขึ้น และสะอาดขึ้น สามารถใช้น้ำยาล้างคลองรากฟัน และยาฆ่าเชื้อใส่ในคลองรากฟันได้ เมื่อกำจัดเชื้อโรคในคลองรากฟันได้หมดแล้ว จะอุดรากฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคกลับเข้าไปในคลองรากฟันได้อีก การรักษาคลองรากฟันไม่ใช่การรักษาที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าคนไข้ที่จำเป็นต้องรักษารากฟัน มักมาพบด้วยอาการปวด จากการที่เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันอักเสบมากจากการติดเชื้อ

สาเหตุส่วนใหญ่ของการที่โพรงประสาทฟันถูกทำลายหรือตายได้แก่

ฟันแตก
ฟันผุลึก

อาการบาดเจ็บของฟัน เช่น การกระแทกอย่างแรงที่ฟัน ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไม่นานหรือในอดีต เมื่อโพรงประสาทฟันติดเชื้อหรือตาย ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จะมีการก่อตัวที่ปลายรากฟันในกระดูกขากรรไกร เกิดเป็นฝีได้ และสามารถทำลายกระดูกรอบๆ ฟันทำให้เกิดอาการปวด
อาการที่แสดงว่าต้องรับการรักษารากฟัน

ฟันที่ผุลึกถึงระดับเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน หรือ มีอาการปวดฟันแล้ว ที่ไม่สามารถอุดฟันได้
เจ็บเวลาเคี้ยวหรือกัดอาหาร
ปวดฟันเมื่อดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็น
มีน้ำหนองไหลจากฟันที่ติดเชื้อ หรือมีตุ่มหนองขึ้นบนเหงือก คล้ายหัวสิว
สีของฟันคล้ำลง
บางครั้งฟันที่ต้องรักษารากอาจไม่แสดงอาการใดๆเลย
ขั้นตอนการรักษารากฟัน

โดยทั่วไปการรักษารากฟันจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ครั้ง (ขึ้นกับสภาพการติดเชื้อที่เป็นอยู่) ระยะเวลาห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากที่ผู้ป่วยมารักษารากฟันในแต่ละครั้ง ขั้นตอนการรักษารากฟันก็จะมีวิธีการ ดังนี้

ก่อนการลงมือรักษารากฟัน ทันตแพทย์จะทำถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันซี่ที่จะทำการรักษา เพื่อให้เห็นภาพของรากฟันบริเวณที่ได้รับความเสียหายได้อย่างชัดเจน รวมถึงพิจารณาว่ามีการติดเชื้อรอบ ๆ กระดูกบริเวณดังกล่าวหรือไม่
ฉีดยาชาเฉพาะที่ในกรณีที่จำเป็น เพื่อให้บริเวณดังกล่าวไร้ความรู้สึก และไม่เกิดความรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองระหว่างการรักษารากฟัน

ใส่แผ่นยางกั้นน้ำลายไว้รอบฟันซี่ที่จะรักษารากฟัน เพื่อให้บริเวณดังกล่าวสะอาด และยังเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากวัสดุที่ใช้รักษาหรือน้ำยาล้างคลองรากฟันไหลลงคอผู้ป่วย

เจาะตรงส่วนบนของฟันกำจัดรอยผุและเปิดช่องเข้าสู่โพรงประสาทฟันและรากฟัน
ล้างทำความสะอาดและใช้เครื่องมือขยายโพรงประสาทฟันให้กว้างขึ้น เพื่อให้สามารถเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ง่าย ซึ่งฟันแต่ละซี่มีรากฟันจำนวนไม่เท่ากันอาจมีตั้งแต่ 1-4 ราก ยิ่งมีจำนวนรากมากก็จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น
ถ้าต้องมีการพบทันตแพทย์มากกว่า 1 ครั้ง จะใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟันและอุดฟันชั่วคราวปิดโพรงฟันไว้
เมื่อคลองรากฟันสะอาดดีแล้ว ทันตแพทย์จะทำการอุดรากฟันโดยใช้วัสดุที่ เรียกว่า Gutta-percha เติมลงไปที่คลองรากเพื่อให้โพรงประสาทฟันปิดสนิทและป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ

ในขั้นตอนสุดท้าย คือการทำครอบฟันเพื่อป้องกันฟันแตกในอนาคตและเป็นการบูรณะฟันให้กลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ

ทันตกรรมรักษารากฟัน

การดูแลหลังการรักษารากฟัน

ฟันที่ได้รับการรักษารากฟันในช่วงแรกมักพบอาการเจ็บตื้อ ๆ หลังจากการรักษาได้ อาการเจ็บปวดชั่วคราวเหล่านี้จะสามารถบรรเทาได้ด้วยยาระงับปวดทั่วไปตามที่มีการสั่งจ่ายยาโดยทันตแพทย์และหายไปได้ใน 2-3 วัน หากมีอาการรุนแรงหรือเจ็บปวดนานกว่านี้ควรรีบแจ้งให้ทันตแพทย์ที่รักษาทราบ
หลังการรักษาควรงดรับประทานอาหารจนกว่าอาการชาที่ปากจะหมดไป เพื่อป้องกันการกัดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มโดยไม่ตั้งใจ

หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหรือกัดอาหารด้วยฟันซี่ที่รักษารากฟัน เพื่อลดโอกาสเกิดฟันแตกระหว่างที่ยังรักษาไม่เสร็จ
สามารถรักษาความสะอาดด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันได้อย่างปกติ
หมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ
ฟันที่รับการรักษารากฟันจะอยู่ได้นานเท่าใด

ฟันที่ได้รับการรักษาหรือฟื้นฟูสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตถ้ามีการดูแลอย่างเหมาะสม เพราะฟันผุยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกในฟันที่รับการรักษาแล้ว สุขอนามัยของปากและฟันที่ดีตลอดจนการพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตเนื่องจากไม่มีโพรงประสาทฟันเหลือเพื่อให้ฟันยังมีชีวิตอยู่ ฟันที่ผ่านการรักษารากฟันอาจมีความเปราะและแตกได้ง่าย จึงเป็นสาเหตสำคัญในการครอบฟันหลังจากที่รับการรักษารากฟันแล้ว

ข้อดี-ข้อเสียของการรักษารากฟัน

ข้อดี

ทำให้หายจากอาการเจ็บปวด โดยไม่ต้องถอนฟันออก
สามารถใช้งานฟันซี่นั้นในการบดเคี้ยวอาหารได้เหมือนปกติ
ได้เก็บโครงสร้างฟันแท้ไว้ใช้งานซึ่งเป็นฟันธรรมชาติ แทนที่จะสูญเสียฟันไปเลยและทดแทนฟันใหม่ด้วยฟันปลอม

ข้อเสีย

ทันตกรรมรักษารากฟัน เป็นงานที่ซับซ้อนและใช้เวลา
ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่าการถอนฟัน
เมื่อรักษารากฟันเสร็จแล้วจะต้องมีการใส่เดือยฟัน และทำครอบ ทำให้มีค่าใช้จ่ายตามมาเพิ่มเติมจากค่ารักษารากฟัน

BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม

ขอบคุณรูปภาพจาก A-Dent Dental Clinic, SMILE GALLERY DENTAL CLINIC

BKK Healthcare
BKK Healthcare เว็บไซต์สุขภาพยอดนิยม