Health Link เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศ

0
26
Health Link เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศ

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แถลงความก้าวหน้าโครงการ Health Link

พร้อมสาธิตระบบเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาสุขภาพมุ่งประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน

25 สิงหาคม 2566 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ – ประเทศไทยเปลี่ยนใหม่เพื่อก้าวไปข้างหน้า ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างไร้รอยต่อและมีมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับสากล

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI) ร่วมกับหน่วยงานในภาคี แถลงความก้าวหน้าการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลทั่วประเทศ (Health Link) พร้อมสาธิตระบบเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาสุขภาพมุ่งประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน เผยข้อมูลล่าสุด มีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ Health Link แล้วมากกว่า 1,100 แห่ง BDI เร่งเดินหน้าพัฒนาระบบงานต่อเนื่องในการนำข้อมูลไปใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ขณะเดียวกันยังคงส่งเสริมให้ประชาชนสมัครบริการ Health Link ในช่องทางต่าง ๆ เช่น ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ThaID (ไทยดี) ฯลฯ เพื่อให้ความยินยอมแก่โรงพยาบาลส่งต่อข้อมูลสุขภาพเข้าสู่ระบบ Health Link การเชื่อมต่อฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสุขภาพนี้เป็นการพลิกโฉมการให้บริการประชาชนและระบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขอย่างเต็มรูปแบบ

การจัดงานแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการ Health Link 2023 ในครั้งนี้มีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาเรื่องแนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ โดยนายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายในงานมีการจัดนิทรรศการโครงการ Health Link และการสาธิตระบบเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาสุขภาพมุ่งประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน โดยนายแพทย์ธนกฤต จินตวร ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการ Health Link และมีไฮไลต์สำคัญคือ การเสวนา หัวข้อ Thailand’s Healthcare Next Move : พลิกโฉมการดูเเลสุขภาพคนไทย” นำโดย นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (อดีตผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร) นายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล รักษาการแทนผู้​อำนวยการ​ศูนย์​เทคโนโลยี​สารสนเทศ​และ​การสื่อสาร​ สำนักงานปลัดกระทรวง​สาธารณสุข​  และนายแพทย์บุญชัย กิจสนาโยธิน อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย งานนี้มีผู้เข้าร่วมงานจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และอีกหลายหน่วยงานในเครือข่าย Health Link รวมกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี  อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI) กล่าวในรายงานตอนหนึ่งในงานแถลงข่าวว่า ความท้าทายของบริการด้านสาธารณสุขไทยคือ ระบบฐานข้อมูลที่ยังไม่เชื่อมถึงกัน โรงพยาบาลแต่ละแห่งจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยในรูปแบบข้อมูลที่ต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากในการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนเรื่องยากให้ง่ายขึ้น ภายใต้การดำเนินงานของ BDI หรือสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ที่พัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล หรือ Health Link ทำให้ความท้าทายดังกล่าวมีทางออก หากผู้ป่วยต้องเปลี่ยนโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องขอประวัติใหม่ทุกครั้ง Health Link ช่วยลดกระบวนการที่ใช้เวลานานและไม่จำเป็น ในบางกรณีการที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาช้าไปเพียงไม่กี่นาทีเพราะต้องรอขอประวัติการรักษาเดิมมาก่อนอาจหมายถึงนาทีชีวิตของผู้ป่วยได้เลยทีเดียว

การจัดเก็บและพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ระดับประเทศย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และสิ่งสำคัญคือข้อมูลสุขภาพของประชาชนซึ่งต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถส่งต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ปัจจุบันโครงการ Health Link  มีความก้าวหน้ามาตลอดระยะเวลาดำเนินการกว่าสองปี (2564-2566) ทั้งการเพิ่มจำนวนสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1,100 แห่งจากหลายเครือข่าย ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ โดยมีสถานพยาบาลที่ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยแล้วมากกว่า 100 แห่ง และภายในปี 2567 นี้ จะสามารถเชื่อมข้อมูลให้แล้วเสร็จอีกอย่างน้อย 200 แห่ง

สำหรับการพัฒนา Health Link ในระยะต่อไป เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพจะเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาระบบสาธารรสุขไทยโดยใช้ข้อมูลเพื่อการวางแผนควบคุมโรค การวางแผนส่งเสริมสุขภาพเพื่อการป้องกันโรค การให้บริการประชาชนที่สะดวกรวดเร็ว รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการกำกับดูแลสถานพยาบาลให้สามารถนำข้อมูลไปใช้วางแผนระบบงาน การกระจายวัคซีนและยารักษาโรค รวมถึงการคืนข้อมูลสู่ประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้เพื่อส่งเสริมดูแลสุขภาพ และยังสามารถต่อยอดการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับกรมบัญชีกลาง สปสช. และระบบประกันสังคม ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนและลดภาระงานเอกสารของสถานพยาบาลในการดำเนินการเรื่องเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ความชัดเจนของ “ก้าวต่อไป” ในระบบสาธารณสุขไทยจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการดูแลสุขภาพประชาชนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานที่ต้องประชาสัมพันธ์และรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ Health Link เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศ และประโยชน์ที่สถานพยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนจะได้รับ ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรในวงการสาธารณสุข ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และมุมมองต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขดิจิทัล

สำหรับประชาชนผู้สนใจรับสิทธิ์การดูแลสุขภาพและต้องการเข้าร่วมในระบบ Health Link สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ยินยอมให้โรงพยาบาลส่งต่อข้อมูลประวัติการรักษาของท่านเข้าสู่ระบบได้ด้วยลงทะเบียนสมัคร Health Link ได้ฟรีในแอปพลิเคชันเป๋าตัง คลิกที่ “กระเป๋าสุขภาพ” และกดเลือก “สิทธิที่น่าสนใจ”  ดูวิธีการสมัครที่นี่  https://bit.ly/3VyBt5U  หรือสมัครผ่านทางเว็บไซต์  www.healthlink.go.th/portal  โดยยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaID ของกรมการปกครอง สำหรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดีท่านสามารถสมัครผ่านทางแอปพลิเคชัน Rama โดย Health Link ยังมีบริการใหม่ให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง สามารถสมัครได้ที่เคาน์เตอร์เวชระเบียนของโรงพยาบาลได้ทันทีเพียงแค่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ

Health Link เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาจากสถานพยาบาลอื่นได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเมื่อย้ายสถานพยาบาล  Health Link มีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มกลางของประเทศไทย ที่รองรับการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล โดยใช้มาตรฐานข้อมูลกลางและมีความปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล สามารถรองรับปริมาณของข้อมูลจำนวนมากที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล เพื่อสร้างกระบวนการในการบริหารจัดการของการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม (ดูข้อมูลโครงการ และรายชื่อสถานพยาบาลในเครือข่ายทั้งหมดได้ที่ www.healthlink.go.th/)